"Les Miserable" ภาพยนตร์ต้นแบบการปิดเมือง
"Les Miserable" ภาพยนตร์ต้นแบบการปิดเมือง
ในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสเคยมีเหตุการณ์ชุมนุมครั้งใหญ่ ที่ผู้ยากไร้และนักศึกษาในกรุงปารีสออกมาปิดเมืองประท้วงความไม่เป็นธรรม และกลายเป็นที่มาของผลงานวรรณกรรมและภาพยนตร์ดังอย่าง Les Miserable ที่ถูกอ้างถึงแทบทุกครั้งในการชุมนุมยุคปัจจุบัน
เมื่อไม่อาจทนชีวิตที่แร้นแค้นได้อีกต่อไป นักศึกษาและประชาชนส่วนหนึ่งจึงลุกขึ้นมาปิดกรุงปารีส ทวงถามความชอบธรรมของรัฐบาล หนึ่งในฉากสำคัญจากภาพยนตร์ปี 2012 เรื่อง Les Miserable ที่สะท้อนภาพการลุกฮือของ กบฎมิถุนายน ปี 1832 ในฝรั่งเศส ที่ประชาชนใช้สิ่งของที่หาได้ปิดถนนเข้าออกในย่านเมืองเก่า กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนอย่าง วิคเตอร์ อูโก้ สร้างสรรค์วรรณกรรมอมตะเรื่อง "เหยื่ออธรรม" ซึ่งเคยถูกดัดแปลงเป็นทั้งละครเพลงและภาพยนตร์มาแล้วหลายครั้ง
เรื่องราวสะเทือนใจที่พูดถึงการต่อสู้ของประชาชนยังทำให้ Les Miserable มักถูกหยิบมาใช้เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของผู้ชุมนุมที่ออกมาประท้วงอำนาจรัฐ
บทเพลงเอกจากภาพยนตร์อย่าง Do you hear The People Sing ยังเคยถูกแปลเป็นภาษาจีนกลางและร้องโดยกลุ่มผู้ชุมนุมชาวไต้หวันเพื่อเรียก ร้องให้รัฐเปิดเผยข้อมูลลับของทางการ และเคยถูกใช้โดยผู้ชุมนุมชาวตุรกี เพื่อชักชวนผู้คนเข้าร่วมปิดสวน Gezie Park เพื่อต่อต้านการนำพื้นที่สาธารณะไปขายให้นักธุรกิจ เนื้อหาที่พูดถึงการชุมนุมของประชาชนยังทำให้ ในประเทศไทยมีผู้หยิบเอาภาพยนตร์เรื่อง Les Miserable มาอธิบายถึงต้นเหตุ การปิดถนนในหลายจุดเพื่อชุมนุมทางการเมือง
การลุกฮือของประชาชนในเหตุการณ์ กบฎมิถุนายน ปี 1832 กินเวลาเพียง 2 วันเท่านั้น หลังรัฐบาลฝรั่งเศสใช้กองทหารเข้าปราบปราม โดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมของกลุ่มหัวรุนแรงส่วนน้อย ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งทหารและประชาชนเกือบ 200 คน เหตุการณ์สะเทือนใจครั้งนั้นนอกจากจะกลายเป็นที่มาของผลงานวรรณกรรมอมตะ ยังเป็นบทเรียนในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่นำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นสาธารณะรัฐได้สำเร็จในปี 1848
ชม Clip ข่าวได้ที่ http://news.thaipbs.or.th/video/les-miserable-ภาพยนตร์ต้นแบบการปิดเมือง
Credit: ThaiPBS, ข่าวศิลปบันเทิง