นักแสดงยอมลดค่าตัวเพื่อบทที่ท้าทาย
นักแสดงยอมลดค่าตัวเพื่อบทที่ท้าทาย

อาชีพนักแสดงฮอลลีวูดขึ้นชื่อเรื่องค่าตอบแทนที่สูง แต่เงินก็อาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญให้ดาราดังตัดสินใจรับบทต่างๆ เสมอไป บ่อยครั้งการยอมรับค่าจ้างต่ำกว่าเกณฑ์เพื่อรับบทที่ท้าทายยิ่งกว่า กลายเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับตัวนักแสดงในภายหลังอีกด้วย

แม้รับบทเป็นลูกน้องนักปั่นหุ้นจอมละโมบ แต่ในชีวิตจริง โจนาห์ ฮิล นักแสดงหนุ่มวัย 30 ปี ไม่ได้มีความโลภเหมือนตัวละครที่เขาสวมบทใน The Wolf of Wall Street ภาพยนตร์เข้าชิง 5 รางวัลออสการ์ เมื่อเจ้าตัวยอมรับค่าแจ้งจากการถ่ายทำที่กินเวลาถึง 7 เดือนเพียง 60,000 ดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นค่าจ้างขั้นต่ำที่สุดที่สมาคมนักแสดงในสหรัฐฯ ยอมรับ เพื่อจะได้ร่วมงานกับ มาร์ติน สกอร์เซซี ผู้กำกับที่เขาชื่นชม สิ่งที่ตอบแทนจากการทุ่มเทให้กับบท ตั้งแต่การเลียนแบบท่าทางและเสียงพูดอย่างสมจริง ก็ส่งให้เขาเข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงสมทบชายในที่สุด

บ่อยครั้งที่ดาราแถวหน้าของฮอลลีวูด ยอมลดค่าจ้างหลายล้านดอลลาร์ เพื่อร่วมงานในโปรเจคท์ที่ตนสนใจ ทั้งตอนที่ จอร์จ คลูนีย์ นักแสดงผู้จบการศึกษาด้านวารสารศาสตร์ เคยปฏิเสธค่าตัว 15 ล้านดอลลาร์ เพื่อมารับค่าตัวไม่กี่แสนเหรียญในการแสดง และกำกับ Good Night and Good Luck ภาพยนตร์ตีแผ่การทำหน้าที่ของสื่อภายใต้ความกดดันของอำนาจรัฐ หรือครั้งที่ แซนดรา บูลล็อก ยอมรับค่าตัวครึ่งหนึ่งจากรายได้ปกติที่ 10 ล้านดอลลาร์ เพื่อรับบทแม่เลี้ยงใจบุญใน The Blind Side หนังชีวิตสุดฮิตแห่งปี 2010 ซึ่งถือเป็นผลงานที่ทำให้วงการหันมาจับตาเธอในฐานะนักแสดงดราม่าแทนภาพลักษณ์ดาราหนังตลกที่คุ้นตา จนเธอได้รับการเสนอชื่อชิงออสการ์ทั้งจาก The Blind Side และผลงานล่าสุดอย่าง Gravity หนึ่งในตัวเต็งออสการ์ปีนี้

คนดังที่ขึ้นชื่อเรื่องการไม่ได้ให้ความสำคัญกับค่าจ้างอีกคนจนเป็นตำนานของฮอลลีวูด คือคีอานู ริฟ ผู้ยอมลดค่าจ้างจากการแสดงใน The Devil's Advocate หนังตีแผ่ความฉ้อฉลในกระบวนการยุติธรรมปี 1997 เป็นเงินถึง 5 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้ผู้สร้างนำเงินส่วนของเขาไปว่าจ้าง อัล ปาชิโน นักแสดงเจ้าบทบาทมาสวมบทสำคัญในหนัง และยอมหักค่าตัวถึงร้อยละ 90 เพื่อให้โปรดิวเซอร์ใช้เป็นเป็นค่าตัว ยีน แฮกแมน นักแสดงรางวัลออสการ์มาร่วมแสดงใน The Replacements หนังตลกปี 2000 และยังนำกำไรจากส่วนแบ่งทั้งหมดที่เขาได้รับจาก The Matrix 2 ภาคสุดท้าย ซึ่งคิดเป็นเงินถึง 75 ล้านดอลลาร์ให้กับทีมงานผู้ออกแบบการแต่งกายและสเปเชียล เอฟเฟค เพราะเขาคิดว่าเป็นกลุ่มคนที่ควรได้รับการยกย่องที่สุดในความสำเร็จของหนังไซไฟปี 2003 เรื่องนั้น

อีกปัจจัยที่ส่งให้นักแสดงชั้นนำของฮอลลีวูดยอมรับค่าจ้างที่น้อยลง มาจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำที่บังคับให้ผู้สร้างทำทุกวิถีทางเพื่อจำกัดงบประมาณการผลิต ทำให้ทุกวันนี้การว่าจ้างดารานำด้วยค่าแรงระดับ 10 ล้านดอลลาร์มีให้เห็นน้อยลงทุกที แต่หันมาเปลี่ยนรูปแบบการว่าจ้างเป็นการให้ส่วนแบ่งกำไรหลังหนังออกฉายแทน ซึ่งตัวอย่างความสำเร็จของวิธีนี้คือครั้งที่ ทอม ครูซ ยอมลดค่าตัวระดับ 25 ล้านเหรียญ เพื่อกลับมาสวมบท อีธาร์น ฮันท์ สายสืบคนดังใน Mission : Impossible ภาค 4 และขอรับส่วนแบ่งกำไรหลังจากหนังออกฉาย ซึ่งปรากฏว่าหนังทำเงินทั่วโลกได้กว่า 700 ล้านเหรียญ และส่งให้เขากลายเป็นนักแสดงที่ทำเงินสูงสุดของปี 2012 ในที่สุด


Credit: ThaiPBS, ข่าวศิลปบันเทิง

Go to TOP