Tangerine : หนังแซ่บปังที่ถ่ายด้วย iPhone5s ทั้งเรื่อง
Documentary Club ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ที่นำหนัง Tangerine ซึ่งเป็นหนังเซอร์ไพรส์แห่งปีเข้ามาฉายในประเทศไทย เปิดเผยถึงความพิเศษของหนังเรื่องนี้ว่า ไม่เพียงเล่าเรื่องตัวละครบนแบ็คกราวด์ที่หาดูยากได้อย่างทั้งแซ่บปังสนุกสนานและร้าวรานใจ แต่ยังทำให้ทุกคนที่ได้ดูมันเป็นครั้งแรกในเทศกาลหนังซันแดนซ์ต้องช็อคเมื่อเพิ่งมารู้หลังดูจบว่า "หนังเรื่องนี้ถ่ายด้วย iPhone 5S ทั้งเรื่อง!" (หนังถ่ายเป็นไวด์สกรีน 2:35:1 และเคลื่อนกล้องราบรื่นมากจนดูไม่ออกว่าถ่ายแบบแฮนด์เฮลด์) ซึ่งแม้ผู้กำกับ ฌอน เบเกอร์ กับผู้ช่วยกำกับภาพ เรเดียม เจิ้ง จะบอกว่า "ทั้งประหยัดงบและง่ายมาก จนแทบไม่ต้องทิ้งฟุตเตจอะไรเลย" แต่จริงๆ แล้วเขาต้องมี 6 สิ่งต่อไปนี้จึงทำมันออกมาได้น่าทึ่งอย่างที่เห็น
1) ไอโฟน 5 เอส แน่นอนต้องมีสิ่งนี้ก่อน เบเกอร์กับทีมของเขาเลือกใช้รุ่นนี้เพราะมันเพิ่งออกมาตอนนั้นและเป็นรุ่นที่กล้องดีมาก โดยเขาใช้ 3 เครื่อง
2) แอพชื่อ FiLMiC Pro ราคาแค่ 8 เหรียญแต่เป็นแอพที่ได้รับการทดสอบจากผู้ใช้ว่าช่วยให้ถ่ายได้ภาพคุณภาพสูงกว่ากล้อง Sony FS100 (ราคา 5 พันเหรียญ) และเทียบเท่ากล้อง Canon C300 (ราคาเกินหมื่นเหรียญ) เลยทีเดียว ตัวแอพสามารถควบคุมโฟกัส รูรับแสง และอุณหภูมิสีโดยได้ภาพเกรนสวยงาม
3) สเตดิแคมสำหรับไอโฟน "เพราะโทรศัพท์มันเบาและเล็กมาก ไม่ว่าคุณจะใช้มือจับแน่นแค่ไหน มันก็สั่นอยู่ดี จึงต้องใช้สเตดิแคมติดตั้งให้มันนิ่ง" เบเกอร์บอก (ตัวละร้อยกว่าเหรียญ)
4) เลนส์อะนามอร์ฟิกอะแดปเตอร์ เบเกอร์โชคดีได้คุยกับ Moondog Labs ซึ่งทำเลนส์ต้นแบบชุดนี้ออกมาให้ทดลองใช้พอดี และผลที่ได้น่าพอใจมากถึงขั้นที่เขาพูดว่า "ว่าตามตรง หนังเรื่องนี้ไม่มีทางสำเร็จได้เลยถ้าไม่มีเลนส์นี่ มันช่วยยกระดับให้ภาพของเรามีความเป็น 'หนัง' จริงๆ" (ที่สำคัญ เลนส์เจ้านี้ตัวละแค่ร้อยกว่าเหรียญ หรือประมาณ 6 พันต่อตัว)
5) งานปรับสีในขั้นโพสต์โปรดักชั่น "หนังโซเชียลเรียลิสต์ส่วนใหญ่จะลดสีหนังให้ดูจืดลงในขั้นโพสต์ฯ" เบเกอร์อธิบาย "แต่เราเลือกทางตรงกันข้าม เราเพิ่มสีและความอิ่มของมันให้เต็มพิกัดไปเลย เพราะโลกในหนังเป็นโลกที่เปี่ยมสีสันและสาวๆ เหล่านี้ก็จัดจ้านมาก เราจึงอยากให้สีของหนังคู่ควรกับพวกเธอ" (ขั้นตอนนี้ทำให้ "สีส้ม" กลายมาเป็นสีเด่นของหนัง และมันก็เลยกลายมาเป็นชื่อเรื่อง "Tangerine" ด้วย) และหลังจากปรับสีแล้ว ขั้นสุดท้ายก็แต่งเกรนดิจิตอลใส่เข้าไป เพื่อให้ดูเป็นภาพแบบหนังจริงๆ มากขึ้น
6) ความรู้ในการทำหนังตามขนบ แต่ใช่ว่าแค่มีอุปกรณ์ทั้งหมดนั่นแล้วก็จะได้หนังมาง่ายๆ เจมส์ แรนซัน (จากซีรีส์ The Wire) ซึ่งมารับบท "เชสเตอร์" ไอ้หนุ่มแสบตัวต้นเหตุของเรื่องเล่าว่า "ตอนแรกผมรู้สึกเสียศักดิ์ศรียังไงชอบกลที่ต้องมาเล่นหนังถ่ายด้วยไอโฟน แต่พอได้เห็นฌอนทำงาน ผมก็เข้าใจข้อดีของมันทันทีเพราะมันทำให้เราทำงานได้ยืดหยุ่นมาก (ตัวอย่าง : ฌอน เบเกอร์ถ่ายหลายๆ ฉากในหนังขณะขี่จักรยานเป็นวงกลมรอบนักแสดง!)
"แต่ยิ่งกว่านั้น พวกเขาพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาทำหนังเป็น กุญแจสำคัญของการทำหนังเรื่องนี้ยังคงคือทักษะพื้นฐานในการทำหนังที่ไม่ต่างจากหนังทั่วไป คุณยังต้องรู้วิธีตัดต่อ ยังต้องรู้วิธีบ