"Deepwater Horizon" หายนะอ่าวเม็กซิโก (ชมคลิปพิเศษจากหนัง)

เหตุระเบิดแท่นขุดเจาะน้ำมัน Deepwater Horizon ในอ่าวเม็กซิโก ถูกระบุว่าเป็นอุบัติภัยทางทะเลจากการรั่วไหลของน้ำมันครั้งใหญ่ที่สุดในโลก และนับเป็นหายนะภัยด้านสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา

20 เมษายน 2010 เกิดเหตุระเบิดที่ตามมาด้วยเปลวเพลิงโหมกระหน่ำ ณ Deepwater Horizon แท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก ราว 40 ไมล์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของชายฝั่งหลุยเซียน่า หายนะภัยครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 11 คน และบาดเจ็บอีก 17 คน ขณะที่แท่นขุดเจาะที่ระเบิดและไฟไหม้รุนแรงลงเอยด้วยการจมลงก้นทะเล การระเบิดดังกล่าวยังเป็นเหตุให้เกิดน้ำมันรั่วไหลสู่ทะเลในปริมาณมหาศาล ซึ่งถูกระบุว่าเป็นอุบัติภัยทางทะเลจากการรั่วไหลของน้ำมันครั้งใหญ่ที่สุดในโลก และนับเป็นหายนะภัยด้านสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา


ภายหลังรัฐบาลอเมริกาได้สืบสวนหาสาเหตุและได้ข้อสรุปหลักๆ ที่ถูกมองว่าเป็นปัจจัยความเสี่ยงหลายข้อด้วยกัน เช่น วาล์วป้องกันซีเมนต์ไหลย้อนกลับปิดไม่สนิท, การทดสอบแรงดันถูกตีความผิดพลาด ฯลฯ ขณะที่คณะกรรมการด้านพลังงาน (Committee on Energy and Commerce - สังกัดสภาผู้แทนราษฏร) ระบุว่า BP (British Petroleum - 1 ใน 7 บริษัทน้ำมันและแก๊สยักษ์ใหญ่ของโลกผู้เป็นเจ้าของสัมปทานการขุดเจาะที่บ่อมาคอนโดซึ่ง Deepwater Horizon ทำการขุดเจาะในช่วงเกิดเหตุ) ควรจะทำการทดสอบซีเมนต์บริเวณบ่อน้ำมัน ซึ่งกระบวนการที่ว่านี้จะมีค่าใช้จ่าย 128,000 เหรียญฯ และใช้เวลานาน 8-12 ชั่วโมง

จากข้อสรุปข้างต้น และการสูญเสียชีวิต ตลอดจนผลกระทบร้ายแรงต่อสภาพแวดล้อมที่ตามมา นำมาสู่การฟ้องร้องและชดใช้ค่าเสียหายในหลายกรณี เท่าที่พอสรุปได้ เช่น ในปี 2011 BP ได้ยื่นฟ้องเรียกร้องค่าเสียหาย 4 หมื่นล้านเหรียญฯ จาก Transocean เจ้าของแท่นขุดเจาะ, Halliburton (อีกหนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติด้านการขุดเจาะน้ำมันที่ดูแลเรื่องปูนซีเมนต์) และ Cameron International Corporation (บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ป้องกันการระเบิด) โดย BP กล่าวหาว่าระบบความปลอดภัยที่ล้มเหลวและพฤติกรรมขาดความรับผิดชอบของบริษัทผู้ร่วมทำสัญญานำไปสู่การระเบิด


ขณะที่ BP เองก็โดนข้อหาหนักไม่แพ้กัน เดือนกันยายน 2014 ศาลได้ตัดสินว่า BP มีความผิดในข้อหาประมาทและจงใจประพฤติผิดภายใต้กฏหมายว่าด้วยน้ำสะอาด (Clean Water Act) ศาลระบุว่าความผิดของ BP นั้นคือความสะเพร่า ส่วน Transocean และ Halliburton คือการละเลยหรือเพิกเฉย โดย BP ถูกระบุว่าต้องรับผิดชอบเป็นส่วนใหญ่ (67% ถือเป็นความผิดของ BP อีก 30% เป็นของ Transocean และ 3% ที่เหลือเป็นของ Halliburton) มีข้อมูลว่าจนถึงปัจจุบันนี้ BP ต้องชดใช้ค่าเสียหายทั้งในส่วนของการทำความสะอาดคราบน้ำมันที่รั่วไหล การฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ค่าเสียหายทางเศรษฐกิจ รวมถึงค่าปรับในกรณีอื่นๆ เป็นจำนวนรวมแล้วกว่า 5 หมื่น 4 พันล้านเหรียญฯ

ชมคลิปพิเศษจากหนัง "Deepwater Horizon - หายนะจากน้ำมือมนุษย์ครั้งรุนแรงที่สุด"



Go to TOP