118.5 เมตร สูงสุดขณะนี้ "Shin Godzilla"
ก็อดซิลล่า 2016 ใน Shin Godzilla กลายเป็นสัตว์ประหลาดสูงที่สุดในขณะนี้ ด้วยความสูงถึง 118.5 เมตร ร่างกายสูงใหญ่ หน้าตาสุดหลอน ผิวหนังเกรอะกรังเหมือนโดนเผามา และที่เด่นสุดคือ หางอันใหญ่โตและยาวเฟื้อย พร้อมจุดปริศนาที่ปลายหาง มีซากกระดูกคล้ายพวกสัตว์ทะเลอัดแน่นอยู่ โดยเป็นการออกแบบของ มาฮิโระ มาเอดะ ศิลปินผู้อยู่เบื้องหลังอนิเมชั่นและหนังดังๆ หลายเรื่อง เช่น การออกแบบเหล่าไคจูในหนังไตรภาค Gamera และปั้นเป็นหุ่นต้นแบบโดย ทากายูกิ ทาเคยะ ศิลปินผู้เคยปั้นงานฟิกเกอร์ดังๆ มากมาย รวมถึงผลงานออกแบบในหนัง Attack On Titan เวอร์ชั่นคนแสดง
ดูเหมือนทีมงาน Shin Godzilla ต้องการให้ก็อดซิลล่าเวอร์ชั่นนี้เต็มไปด้วยความรู้สึก ความเรียบง่าย ความเปลือยเปล่า เพื่อนำไปสู่เนื้อแท้ของมัน เป็นสิ่งสะท้อนของการมีชีวิตอยู่ในโลกของไซไฟ มันไม่ใช่แค่เรื่องเพ้อฝัน แต่มันยังเป็นภาพล้อของความเป็นจริง เสียดสี หรือกระจกเงาที่สะท้อนภาพออกมา ดังประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 60 ปีของก็อดซิลล่า ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งการรีเซ็ตตัวเอง พัฒนาการ ความพ่ายแพ้ ความอ่อนล้า กระทั่งมันกลายเป็นเพียงแค่สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ และหยุดเดินในที่สุด
นอกเหนือจากเรื่องหน้าตา เทคนิคพิเศษที่ใช้สร้างก็อดซิลล่าให้มีชีวิตก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน หลังจากหนังก็อดซิลล่าถูกจดจำด้วยภาพคนสวมชุดยาง ซึ่งทีมสร้างเผยว่า Shin Godzilla ใช้เทคนิคดั้งเดิม ทั้งหุ่นและฉากย่อส่วน ผสมผสานกับเทคนิคทันสมัยอย่างซีจีไอ กระทั่งในหนัง คนดูก็จะได้เห็นก็อดซิลล่าญี่ปุ่นในรูปแบบซีจีเต็มตัว เดินเหินอยู่ในเมือง แม้ก็อดซิลล่า 2016 จะได้รับการพูดถึงว่าเป็นก็อดซิลล่าตัวแรกของโตโฮที่สร้างด้วยซีจีแบบเต็มเหนี่ยว แต่ความจริงแล้ว โตโฮก็เคยทำก็อดซิลล่าซีจีเต็มตัวมาแล้ว เพียงแค่ไม่ได้อยู่ในหนังก็อดซิลล่า แต่อยู่ในฉากเปิดหนังซ้อนหนังของ Always Sunset On Third Street 2 (2007) นอกจากนี้ โตโฮยังเคยใช้เทคนิคซีจีกับก็อดซิลล่าในหนังช่วงยุคมิลเลนเนียมหลายเรื่อง แต่ยังไม่ได้ใช้แบบเต็มที่ อาทิ Godzilla vs. Megaguirus (2000) ใช้สร้างก็อดซิลล่าขณะกำลังอยู่ใต้น้ำ
ในมุมมองของผู้สร้าง ความยุ่งยากไม่ได้มีเพียงการดีไซน์หรือกลวิธีการนำก็อดซิลล่าขึ้นมาผงาดบนจอ แต่เป็นความกดดันกับการเติมชีวิตให้กับตัวละครที่เป็นไอคอนหนึ่งของโลก