ทำในสิ่งไม่คุ้น กังฟู + โยคะ "Kung Fu Yoga"
นอกจากการร่วมทุนสร้างกับบริษัทหนังจากอินเดียแล้ว Kung Fu Yoga ยังไปถ่ายทำในอินเดียหลายฉาก อีกทั้งยังมีนักแสดงบอลลีวู้ดมาร่วมแสดงนำด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการเจาะตลาดหนังขนาดใหญ่แห่งนี้ เฉินหลง กล่าวว่า "หนังของผมมักจะมีการร่วมสร้างและขอใช้สถานที่ถ่ายทำในต่างประเทศ ความพิเศษของเรื่องนี้คือการร่วมมือกับอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคน และเป็นตลาดภาพยนตร์ขนาดใหญ่มากๆ"
Kung Fu Yoga ใส่ส่วนผสมของความเป็นอินเดียลงไปแบบจัดเต็ม ทั้งนักแสดงบอลลีวู้ดและตัวประกอบชาวอินเดียนับร้อย ฉากหลังในอินเดียทั้งตลาดขนาดใหญ่ รวมถึงธรรมชาติอันสวยงาม มายากลแบบอินเดียอย่างเชือก-งู-ลอยตัว-กลืนดาบ-กลืนไฟ และที่ขาดไม่ได้คือฉากเต้นรำแบบหนังบอลลีวู้ด นั่นทำให้ทีม JC Stunt Team ของเฉินหลงซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องฉากแอ็คชั่นเสี่ยงตายต้องหันมาทำในสิ่งที่ไม่คุ้นอย่างการออกแบบฉากเต้นรำและร่วมแสดง เพื่อให้ท่าเต้นออกมาสวยงามและผาดโผน ซึ่งพวกเขากล่าวว่ามันเป็นงานที่โหดหินไม่แพ้กัน
นอกจากนั้นยังมีการใส่สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของอินเดียอย่างโยคะลงไป ซึ่งทีมผู้สร้างกล่าวว่า "โยคะไม่ได้หมายความถึงแค่การบิดหรือจัดวางร่างกาย แต่มันคือชุดความคิดในมนุษย์คนหนึ่งซึ่งส่งผลต่อการฝึกฝนร่างกาย การพัฒนาความคิดพฤติกรรม และการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของบุคคลหนึ่ง การฝึกโยคะคือหนทางสู่การพัฒนาจิตใจและนิสัยของบุคคลนั้นๆ"
"สำหรับแนวคิดของการผสมผสานกังฟูกับโยคะเข้าด้วยกัน เราไม่ได้ผสมแค่เทคนิคแบบผิวเผิน แต่เราบูรณาการองค์ประกอบและหลักคิดโดยรวมของโยคะลงไปในกังฟู ซึ่งทั้งสองศาสตร์นี้อาจดูแตกต่างกันคนละขั้วเนื่องจากกังฟูคือการกระทำความเสียหายให้มากที่สุดภายในเวลาสั้นที่สุด แต่โยคะคือการเคลื่อนไหวที่ช้า นุ่มนวล โฟกัสไปที่ความยืดหยุ่นของร่างกาย แต่ความนุ่มนวลนั้นก็แฝงไว้ด้วยความแข็งแกร่งถึงขีดสุดทั้งในเรื่องความสมดุลและเสถียรภาพ" ผู้สร้างกล่าว "กังฟูกับโยคะจะเกื้อหนุนกันและกัน โดยโยคะจะส่งเสริมกังฟูทางด้านสมาธิและความแข็งแกร่งของจิตใจ ส่วนกังฟูจะส่งเสริมโยคะด้วยการทำให้ร่างกายมีสมดุลและเสถียรภาพมากขึ้น โดยเราจะเห็นตัวละครของเฉินหลงต้องดำน้ำ 8 นาทีเพื่อหนีออกจากถ้ำน้ำแข็ง ซึ่งตอนนั้นความแข็งแกร่งของร่างกายก็ไม่มีประโยชน์เท่ากับโยคะที่ช่วยกำหนดลมหายใจได้"