Inside "The Girl With The Dragon Tattoo (2011)"
หากใครที่รู้จักถึงตัวตนของผู้กำกับเดวิด ฟินเชอร์ คงจะทราบดีว่าชื่อของเขามักจะอยู่คู่กับคำว่าสมบูรณ์แบบเสมอ และดูเหมือนว่าคราวนี้กับ Dragon Tattoo จะไม่ใช่ข้อยกเว้น ซึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการสร้างหนัง Dragon Tattoo ก็ดูจะตอกย้ำได้เป็นอย่างดีว่านี่คือหนังของเดวิด ฟินเชอร์ได้เป็นอย่างดี
ตั้งแต่แรกที่จับโปรเจ็คนี้ ทั้งฟินเชอร์และผู้เขียนบท สตีเว่น เซลเลี่ยน ตั้งใจไว้ว่าจะยังคงรักษาความเป็นสวีเดนในนิยายต้นฉบับไว้อย่างครบถ้วน โดยจะไม่แปลงสัญชาติหรือเปลี่ยนรูปลักษณ์ให้เป็นอเมริกันมากขึ้น เพราะรากเหง้าของเรื่องราวล้วนมีความเป็นสวีเดนทั้งสิ้น โดนัลด์ เกรแฮมเบิร์ท นักออกแบบงานสร้างมือเก๋าที่ร่วมงานกับฟินเชอร์มาแล้วทั้งใน Zodiac, The Curious Case Of Benjamin Button (เบิร์ทคว้าออสการ์ครั้งแรกร่วมกับ วิคเตอร์ เจ. ซอลโฟ ได้จากเรื่องนี้) และ The Social Network พูดถึงการทำงานใน Dragon Tattoo ที่คราวนี้เขาต้องใช้เวลาร่วมเดือนสำรวจไปทั่วสวีเดนว่าเป็นความท้าทายที่น่าสนใจอย่างแท้จริง เมื่อเป็นครั้งแรกที่หนังฮอลลีวู้ดฟอร์มใหญ่มาถ่ายทำกันในสวีเดน
ทว่าการถ่ายทำในโลเคชั่นที่สวีเดนใช่ว่าจะราบรื่น ปัญหาเริ่มจากการถ่ายทำฉากฆาตกรรมฉากหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้น ณ อู่ต่อเรือมืดๆ แห่งหนึ่ง แต่หลังถ่ายทำเสร็จ ฟินเชอร์กลับพบว่าเขายังไม่ได้ภาพช็อตที่ต้องการ ด้วยตารางการถ่ายทำแน่น ทำให้กว่าจะย้อนกลับไปถ่ายซ่อมได้ต้องรอเวลาอีกหลายเดือน ต่อมาเมื่อเขาวางแผนจะกลับไปถ่ายฉากนั้นใหม่ที่โลเคชั่นเดิม กลายเป็นว่าสถานที่แห่งนั้นได้ถูกขายต่อไปให้กับสมาชิกคนหนึ่งของ ABBA วงนักร้องชื่อดังของสวีเดน ซึ่งไม่ระบุชัดว่าเป็นคนไหน และเจ้าของสถานที่คนใหม่ก็ไม่ยอมให้ฟินเชอร์กับทีมงานเข้าไปถ่ายทอีก เมื่อเจอแบบนี้แทนที่ฟินเชอร์จะหาโลเคชั่นใหม่หรือใช้ฟุตเตจที่มีอยู่แล้วมาแทน แต่เขากลับตัดสินใจสร้างอู่เรือแบบในสวีเดนขึ้นที่โรงถ่ายในลอสแองเจลิส โดยจำลองแบบจากโลเคชั่นที่สวีเดนมาแทบทุกกระเบียดนิ้ว
และนับจาก Panic Room ผู้กำกับเดวิด ฟินเชอร์ไม่เคยใช้ฟิล์มอีกเลย และคราวนี้ใน Dragon Tattoo ฟินเชอร์ไม่ยอมกลับไปถ่ายทำหนังด้วยฟิล์ม แต่ยังก้าวหน้าไปอีกขั้นด้วยการหันไปใช้กล้องดิจิตอลรุ่นที่มีประสิทิภาพสูงกว่าเดิม จากที่ใน The Social Network ใช้กล้อง Red One รุ่น 2K ที่มีความสามารถในการแสดงความละเอียดของภาพดิจิตอล (resolution) อยู่ที่ 2048 x 1024 พิกเซล มาคราวนี้ใน Dragon Tattoo ก็เปลี่ยนมาใช้กล้อง Red One MX และ Red Epic ในรุ่น 4.5K (4480 x 1920 พิกเซล) และ 5K (5120 x 2134 พิกเซล) ตามลำดับ
มีการตั้งข้อสังเกตว่าอีกจุดหนึ่งที่ Dragon Tattoo ดูจะก้าวล้ำ The Social Network ไปหลายขุมก็คือความรุนแรงทางภาพ โดยหนึ่งในฉากที่ทีมตัดต่อยอมรับว่าหนักหนาสาหัสคือฉากแรงๆ อย่างการข่มขืน เคิร์กซ์ แบ็กซเตอร์ มือตัดต่อร่วมทีมได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า มันสำคัญที่จะกล่าวถึงหนังเรื่องนี้ว่าไม่ได้พยายามจะเชิดชูความรุนแรง ไม่ได้กำลังซ่อนมัน แต่เน้นให้มันเด่นชัดขึ้น และผลสะท้อนกลับของความรุนแรงนั้นก็ถูกนำเสนอในหนังด้วย มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำนั้น แต่เกี่ยวกับผลกระทบของมันที่มีต่อตัวละครเหล่านี้ และมันทำให้พวกเขาทำอะไรในเวลาต่อมา
รายงานโดย MR.Numchok
[ www.facebook.com/Numchok Angkinan ]